ระบบพยากรณ์ความเสี่ยงผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง (DV Predictive Model)

เกี่ยวกับระบบพยากรณ์ความเสี่ยงผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง

จากสถิติของศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ช่วงปี 2547-2565 พบผู้หญิงไทยถูกกระทำด้วยความรุนแรงเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลมากถึง 8,847 รายต่อปี นอกจากนั้น กลุ่มเด็กหญิงอายุ 10 ปี - ไม่เกิน 20 ปี เป็นกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขที่มีการรายงานและถูกบันทึกไว้ ในอีกด้านยังมีเด็กและผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ประสบกับความรุนแรง แต่ไม่ได้เปิดเผยเรื่องราวหรือร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทั้งความอับอาย ความหวาดกลัว ความไม่รู้ หรือไม่สามารถในการบอกกล่าวความจริงได้ชัดเจนโดยเฉพาะกรณีที่เป็นเด็ก

สถานพยาบาลถือเป็นหน้าด่านที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นสถานที่ให้บริการด้านสาธารณสุขที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และมีบุคลากรด้านการแพทย์ปฏิบัติงาน ทำให้มีโอกาสพบเจอกับผู้ที่มีความเสี่ยงถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือเป็นผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงอยู่เสมอ แต่จากช่องว่างดังกล่าว ส่งผลให้การตรวจพบเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก บุคคลดังกล่าวจึงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงหรือตกอยู่ในวงจรความรุนแรงต่อไป มากไปกว่านั้น การที่ไม่สามารถป้องกันเหตุก่อนที่จะเกิดเป็นปัญหาที่บานปลาย ได้กลายเป็นภาระและต้นทุนมหาศาลของทั้งสังคมที่ต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากสำหรับการฟื้นฟูและแก้ไข

ระบบพยากรณ์ความเสี่ยงผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง (DV Predictive Model) จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของบุคลากรด้านการแพทย์ โดยตระหนักว่าสถานพยาบาลถือเป็นด่านแรกที่สำคัญในการทำงานเชิงรุกและการรับไม้ต่อเมื่อผู้เสียหายต้องการความช่วยเหลือ และเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการลดปัญหาความรุนแรง ผ่านการประเมินความเสี่ยงในการถูกกระทำด้วยความรุนแรงของผู้เข้ามารับบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงได้รับความช่วยเหลือโดยทันที อันเป็นการป้องกันไม่ให้ความรุนแรงบานปลายในภายหลัง ลดภาระและทรัพยากรได้

โดยเจ้าหน้าที่ที่พบกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีแนวโน้มถูกกระทำด้วยความรุนแรง สามารถใช้ระบบนี้ในขณะที่ซักประวัติ โดยการสอบถาม และเลือกคำตอบตามที่กำหนดไว้ในระบบ โดยระบบจะคัดกรองและพยากรณ์ความเสี่ยงว่ามีโอกาสเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นจึงส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการเพื่อการป้องกัน รักษา และฟื้นฟู แบบเชิงรุกต่อไป

ระบบพยากรณ์ความเสี่ยงผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง (DV Predictive Model) เป็นความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลปทุมธานี และสถาบัน ChangeFusion